Sunday May 05, 2024

การวาดภาพพฤกษศาสตร์โรงเรียน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริ ” การสอนการอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความสวยงาม ความน่าสนใจ และเกิดความปิติที่จะทำการรอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกกลัวว่าหากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสียเกิดอันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาว “  มาตั้งแต่ พ.ศ. 2536 โดยที่ประเทศไทยยังไม่รู้จักการวาดภาพพฤกษศาสตร์มากนัก ในวันพืชมงคล เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2541 ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ทรงมีรับสั่งระหว่างเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ให้มีการวาดภาพพฤกษศาสตร์ในโรงเรียนสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จากนั้นทรงมีรับสั่งอีกครั้งในเรื่องการวาดภาพพฤกษศาสตร์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2541 ณ สนามบินฮีทโทร  กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
           โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ดำเนินการสนองพระราชดำริ จัดให้มีการอบรมวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ ครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ.2542 โดยคณาจารย์จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คุณเอกชัย อ๊อดอำไพ (นักวาดภาพทางพฤกษศาสตร์) คุณวิชัย มะลิกุล (นักวาดภาพแมลงและภาพทางวิทยาศาสตร์ จากสถาบันสมิทโซเนียน สหรัฐอเมริกา) ได้มาร่วมเป็นวิทยากร สามารถจัดแสดงผลงานที่วาดโดยนักเรียนครั้งแรกในวันพืชมงคล เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2542 และเป็นงานหนึ่งที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
           อาจารย์ลลิตา โรจนกร  นักวาดภาพพฤกษศาสตร์ รับทราบการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จึงร่วมสนองพระราชดำริเป็นวิทยากรสอนการวาดภาพพฤกษศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2542 ระหว่างที่กลับมาพักในประเทศไทย ปีละครั้ง และได้จัดทำต้นฉบับ “ศิลปะการวาดภาพพฤกษศาสตร์” มอบให้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อจัดพิมพ์เป็นแนวทางสำหรับครู อาจารย์ นักเรียน ที่สนใจ ให้เกิดการสัมผัสในสิ่งที่ไม่เคยสัมผัส การรู้จริงในสิ่งที่ไม่เคยได้รู้จริง เป็นปัจจัยสู่จินตนาการ เป็นเหตุแห่งความอาทร การุณย์ สรรพชีวิต สรรพสิ่ง ผ่านการวาดภาพพฤกษศาสตร์ นำไปสู่การศึกษาธรรมชาติแห่งชีวิต และสรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว ที่จะส่งผลไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป..

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to Top