Tuesday Nov 26, 2024

ประดู่

ชื่อพื้นเมือง ประดู่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ptarocarpus macrocarpus Kurz
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE-PAPILIONIDEAE
สามัญ-
ประโยชน์ เนื้อไม้แข็งนิยมนำมาใช้ในการทำเฟอร์นิเจอร์

สรรพคุณของประดู่

  1. เปลือกต้นมีรสฝาดจัด มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (เปลือกต้น)[2]
  2. แก่นเนื้อไม้ประดู่ มีรสขมฝาดร้อน มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น)[2],[4]
  3. แก่นเนื้อไม้ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้ (แก่น)[1],[2],[4] ส่วนรากใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้ (ราก)[4]
  4. แก่นเนื้อไม้ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้เสมหะ (แก่น)[1],[2],[4]
  5. ใบนำมาตากแห้งใช้ชงกับน้ำร้อนเป็นชาใบประดู่ นำมาดื่มจะช่วยบรรเทาอาการระคายคอได้ (ใบ)[4]
    1. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้แก่นเนื้อไม้นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา (แก่น)[1],[2]
    2. ผลมีรสฝาดสมาน มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน (ผล)[2]
    3. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ปากเปื่อย ปากแตก (เปลือกต้น)[4] ส่วนยางก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคปากเปื่อยได้เช่นกัน (ยาง)[4]
    4. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง (ผล)[2]
    5. เปลือกต้นและยางมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น, ยาง)[2],[4]
    6. ใช้เป็นยาแก้โรคบิด (เปลือกต้น)[4]
    7. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาขับยาเสมหะ (แก่น)[2]
    8. ใบอ่อนนำมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกแผล พอกฝี จะช่วยทำให้ฝีสุกหรือแห้งเร็ว (ใบอ่อน)[1],[2],[4]
    9. ใบอ่อนใช้ตำพอกแก้ผดผื่นคัน (ใบอ่อน)[1],[2],[4] ส่วนแก่นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ผื่นคันเช่นกัน (แก่น)[2]
    10. ยางไม้ประดู่มีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Gum Kino” สามารถนำมาใช้เป็นยาแก้โรคท้องเสียได้ (ยางไม้)[1]
    11. แก่นเนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้โรคคุดทะราด ด้วยการนำแก่นไม้มาต้มกับน้ำกิน (แก่น)[1],[2]
    12. เปลือกต้นมีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาสมานบาดแผล (เปลือกต้น)[2]

    ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของประดู่

    • เมื่อนำส่วนของเปลือก ราก และใบมาสกัดด้วยตัวทำละลาย พบว่าสารที่พบได้ในทุกส่วนของประดู่ คือ Flavonoid Tannin และ Saponin ส่วนสารสำคัญที่ได้จากการค้นคว้าข้อมูลอื่น พบว่ามีสาร Angiolensin Homopterocarpin, Formonoetin, Isoliquirtigenin, Narrin , Pterostilben, Pterocarpin, Pterofuran, Pterocarpon, Prunetin, Santalin, P-hydroxyhydratropic acid, β-eudesmol ส่วนใบพบว่ามีคลอโรฟิลล์ 3 ชนิด คือ Chlorophyll a Chlorophyll b และ Xanthophyll[4]
    • ประดู่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย แก้อาการปวด ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ยับยั้งการแบ่งเซลล์ ยับยั้งเอนไซม์ Ornithine decarboxylase และยับยั้ง Plasmin ฤทธิ์คล้ายเลคติน ทำให้เม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่มกัน[4]
    • จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยใช้สารสกัดด้วยเอทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นประดู่ 50% เมื่อนำมาฉีดเข้าท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายคือขนาดมากกว่า 1 กรัม[4]

    ประโยชน์ของต้นประดู่

    1. ใบอ่อนและดอกประดู่สามารถนำมาลวกรับประทานเป็นอาหารได้ และยังสามารถนำมาชุบแป้งทอดรับประทานกับน้ำจิ้มเป็นอาหารว่างได้อีกด้วย[2],[4]
    2. ไม้ประดู่ เป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีคุณภาพดี เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อละเอียดปานกลาง ปลวกไม่ทำลาย สีสวย มีลวดลายสวยงาม ตกแต่งขัดเงาได้ดี นิยมนำมาใช้สร้างบ้านเรือน ทำฝาบ้าน พื้นบ้าน ทำเสา ทำคาน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนต่าง ๆ หรือนำมาใช้ทำเกวียน ทำเรือคานและเรือทั่ว ๆ ไป รวมทั้งส่วนประกอบต่าง ๆ ของเรือด้วย เพราะไม้ประดู่มีคุณสมบัติทนน้ำเค็ม ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ด้ามมีด จานรองแก้ว ทัพพี ฯลฯ เครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ระนาด เป็นต้น นอกจากนี้ประดู่บางต้นยังเกิดปุ่มตามลำต้น หรือที่เรียกว่า “ปุ่มประดู่” จึงทำให้ได้เนื้อไม้ที่มีคุณภาพสูงและงดงาม แต่จะมีราคาแพงมากและหาได้ยาก นิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือนและเครื่องมือเครื่องใช้ได้อย่างดีเยี่ยม[2],[4]
    3. เปลือกให้น้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง เปลือกและแก่นประดู่ยังสามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้าได้ดี โดยเปลือกจะให้สีน้ำตาล ส่วนแก่นจะให้สีแดงคล้ำ[2]
    4. ใบมีรสฝาด สามารถนำมาชงกับน้ำใช้สระผมได้[2]
    5. คนไทยนิยมนำต้นประดู่มาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารหรือสถานที่สาธารณะ เช่น ตามสวนหรือทางเดินเท้า ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาและให้ความสวยงาม อีกทั้งยังช่วยกำจัดอากาศเสีย ช่วยกรองฝุ่นละออง และกันลมกันเสียงได้ดีอีกด้วย ดังจะเห็นได้ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ ที่จะใช้ประโยชน์จากต้นประดู่มากเป็นพิเศษ[2]
    6. ในด้านเชิงอนุรักษ์ ต้นประดู่เป็นไม้เรือนยอดกลมโต มีความแข็งแรง สามารถช่วยป้องกันลมและคลุมดินให้ร่มเย็นชุ่มชื้นได้ และยังช่วยรองรับน้ำฝนช่วยลดแรงปะทะหน้าดิน ประกอบกับมีระบบรากหยั่งลึกและแผ่กว้างที่ช่วยยึดหน้าดินไว้ไม่ให้พังทลายได้ง่าย และรากที่มีปมขนาดใหญ่ยังช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศมาเก็บไว้ในรูปของไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์อีกด้วย ส่วนใบที่หนาแน่น เมื่อร่วงหล่นก็จะเกิดการผุพังกลายเป็นธาตุอาหารอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้เป็นอย่างดี
    7. ในด้านข้อความเชื่อ หากบ้านใดปลูกต้นประดู่ไว้เป็นไม้ประจำบ้าน เชื่อว่าจะช่วยทำให้เกิดพลังแห่งความยิ่งใหญ่ เพราะประดู่หมายถึงความพร้อม ความร่วมมือร่วมใจสามัคคี มีพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ให้ปลูกต้นประดู่ไว้ทางทิศตะวันตกและให้ปลูกในวันเสาร์ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณให้ปลูกกันในวันเสาร์ และถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ปลูกควรจะเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือและเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น
    8. ในด้านของการเป็นสัญลักษณ์ ดอกประดู่เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรือไทย เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศพม่า ส่วนต้นประดู่เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดภูเก็ต และโรงเรียนอีกหลายแห่งในประเทศไทย (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to Top