ชื่อพื้นเมือง สะเดา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadinachta indica A juss uar siarrensis Valeton
ชื่อวงศ์ MELLACEAE
สามัญNeem, Neem tree, Nim, Margosa, Quinine, Holy tree, Indian margosa tree, Pride of china, Siamese neem tree
สรรพคุณของสะเดา
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก, ใบ, ผล)
- ช่วยบำรุงธาตุไฟ ขับน้ำย่อยอาหารทำให้กระเพาะย่อยอาหารได้ดีขึ้น (ใบ, แก่น)
- ช่วยบำรุงโลหิต (ใบ, แก่น)
- น้ำตาลที่ได้จากการหมักน้ำจากลำต้นมีแร่ธาตุ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ลำต้น)[4]
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา โดยพบว่าผู้ที่รับประทานยอดสะเดาตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุ 90 กว่า สายตายังดีมาก (ยอดอ่อน)
- ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร ด้วยการใช้ช่อดอกนำมาลวกน้ำร้อน จิ้มน้ำปลาหวานหรือน้ำพริก หรือจะใช้เปลือกสดประมาณ 1 ฝ่ามือนำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว (ผลอ่อน, ลำต้น, เปลือกต้น, เปลือกราก, ราก, ใบอ่อน, ดอก)[1],[2],[4],[5]
- ช่วยแก้กษัยหรือโรคซูบผอม ผอมแห้งแรงน้อย (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเอดส์ เนื่องจากการรับประทานใบสะเดาเป็นอาหารจะช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดอาการเบื่ออาหารหรือกินอาหารได้น้อยแล้วทำให้ซูบผอมจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน (ใบ)
- ช่วยลดความเครียด โดยมีผลการทดลองในหนู ระหว่างกลุ่มที่ได้รับน้ำใบสะเดาคั้นและกลุ่มที่รับยา Diazepam (valium) ซึ่งเป็นยาลดความกังวล ผลการทดลองพบว่าสะเดาส่งผลได้ดีเท่ากับหรือดีกว่ายา diazepam (valium) (ใบ)
- ช่วยทำให้นอนหลับสบาย หรือหากนอนไม่หลับ ให้ใช้ใบและก้านสะเดาประมาณ 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยาแล้วต้มให้เดือดนาน 5-10 นาที ใช้กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 เวลา (ใบ, ก้านใบ)
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกและมะเร็ง เนื่องจากในเปลือก ใบ และผลของสะเดา มีสาร Polysaccharides และ Limonoids ที่ช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว โดยไม่ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกาย (ใบ, เปลือก, ผล)[5]
- ช่วยแก้โรคหัวใจ หัวใจเดินผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ แก้ลมหทัยวาตหรือลมที่เกิดในหัวใจ (ผล)[1],[2],[5]
- ช่วยแก้ไข้ สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย (ลำต้น, เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก, เปลือกรากแก้ว, ใบ, ก้านใบ)[1],[2],[4],[5],[8] แก้ไข้ตัวร้อน ไข้จับสั่น (แก่น)[5] หากเป็นไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ให้ใช้ยอดอ่อนหรือดอกลวกจิ้มกินกับน้ำพริก อาการจะบรรเทาภายใน 24 ชั่วโมง หรือถ้าหากไปตากแดดตากฝนจนมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายจะเป็นไข้ ก็ให้ใช้ยอดอ่อนและดอกลวกกินกับข้าว หรือจะใช้ใบทั้งก้านและดอกนำมาตากแดดจนแห้ง ต้มกับน้ำ 3 แก้วจนเหลือ 1 แก้ว ใช้กินก่อนอาหารขณะอุ่น ๆ ไม่เกิน 3 วัน ไข้จะหาย หรืออีกสูตรให้ใช้ก้านสะเดา 33 ก้าน ต้มกับน้ำ 3 แก้วจนเหลือ 1 แก้วแล้วดื่มให้หมด แล้วเอายาใหม่มาต้มกินอีกวันละ 3-4 ครั้ง หรือจะใช้รากสะเดาประมาณ 1 กำมือ ยาวหนึ่งฝ่ามือ ต้มกับน้ำจนเดือดนาน 10-15 นาที ใช้กินก่อนหรือหลังอาหารครั้งละครึ่งแก้ว ทุก ๆ 4 ชั่วโมง จะทำให้ความร้อนลดลง อาการไข้จะหาย หรือถ้าหากเป็นไข้ตัวร้อน กระหายน้ำด้วย ก็ให้ใช้ก้านและใบประมาณ 2-3 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มจนเดือดประมาณ 5-10 นาที ใช้ดื่มต่างน้ำอาการจะดีขึ้น[5] หรือใช้ก้านใบผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นเป็นยาแก้ไข้ก็ได้เช่นกัน (ก้านใบ)[1]
- ช่วยแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น โดยใช้เปลือกต้นสะเดานำมาต้มกับน้ำแล้วเคี่ยวให้งวด ใช้ดื่มขณะยังอุ่น เมื่อดื่มแล้วให้นอนคลุมโปง จะทำให้เหงื่อออกมาก และกินซ้ำ 3-4 วัน อาการไข้จับสั่นจะค่อย ๆ หาย หรือให้กินน้ำต้มใบสะเดา หรือใช้ยอด ก้านใบ นำมาต้มเคี่ยวแล้วกิน หรืออีกสูตรของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ระบุในตัวยาว่ามีก้านสะเดา 33 ก้าน, สมอไทย 30 ลูก, ฝักคูน 3 ฝัก, ใบหนาด 10 ใบ และขมิ้นอ้อย 5 แว่น นำมาต้มใส่น้ำพอท่วมยา ต้มให้เดือดประมาณ 5-10 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 เวลา หรือทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง โดยเติมน้ำต้มกินเรื่อย ๆ จนกว่ายาจะจืด (ผลอ่อน, ลำต้น, เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก, ก้าน)[1],[2],[4],[5]
- ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ในร่างกาย (ยาง)[1],[2],[5]
- ช่วยแก้อาการไอ ด้วยการใช้รากสะเดา 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม ต้มประมาณ 10-15 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา ติดต่อกัน 4 วัน อาการไอจะหาย (ราก)[5]
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ด้วยการใช้ยอดสะเดาลวกกับน้ำร้อน 2-3 น้ำ ใช้กินกับข้าว นอกจากจะช่วยแก้ร้อนในแล้ว ยังช่วยรักษาแผลในช่องปาก ปากมีกลิ่นเหม็น และมีฤทธิ์ระบายอ่อน ๆ (ใบ)[5]
- ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย (เมื่อนำมาทำอาหาร เช่น แกงสะเดา)[8]
- น้ำตาลที่ได้จากการหมักน้ำจากลำต้น ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ลำต้น)[4]
- ช่วยรักษาเบาหวาน ด้วยการใช้ใบสะเดาประมาณ 1 กำมือ ใส่น้ำ 3-4 แก้ว ต้มให้เดือดประมาณ 5-10 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา หรืออีกสูตรให้ใช้ใบสะเดาสด 1 กิโลกรัม, บอระเพ็ด 1 กิโลกรัม, ใบมะกรูด 1 กิโลกรัม ใส่น้ำท่วมยา แล้วต้มให้เดือดนาน 10-15 นาที ใช้กินต่างน้ำครั้งละ 1 แก้ว ทุก ๆ 4 ชั่วโมง (ใบ)[5]
- ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน (แก่น)[1],[2],[5]
- ช่วยทำให้อาเจียน (เปลือกรากแก้ว)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการเพ้อคลั่ง (กระพี้)[5]
- ช่วยแก้พิษโลหิตกำเดา (ดอก)[1],[2],[5]
- ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ใบสะเดา ใบพริกขี้หนู และรากกระเทียม (อย่างละเท่ากัน) นำมาหั่นเป็นฝอยแล้วตากแห้ง ไว้มวนสูบ (ใบ)[5]
- กิ่งอ่อนใช้เคี้ยวสีฟัน ช่วยทำให้เหงือกและฟันสะอาด แข็งแรง โดยให้เลือกใช้กิ่งยาวขนาดนิ้วชี้ ใช้ฟันขบปลายให้แบนแตกเป็นเส้นเล็ก ๆ คล้ายกับแปรงเอามาใช้สีฟัน จนขนแปรงจากไม้สะเดาหลุด ก็ให้เคี้ยวขนที่หลุดให้ละเอียดแล้วกลืนลงไป สีไปขบไปเคี้ยวไปจนหมดกิ่ง ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แล้วจะพบว่าฟันลื่นสะอาด กลิ่นอาหารไม่มี ลำคอสะอาด และยังช่วยทำลายแบคทีเรียในช่องปากได้อีกด้วย (กิ่งอ่อน)[4],[5]
- หากฟันโยกคลอน เหงือกหรือปากเป็นแผล ให้ใช้เปลือกสะเดายาวประมาณ 2-3 นิ้ว นำมาขูดเอาเปลือกนอกดำ ๆ ออกให้หมด แล้วนำมาทุบปลายให้แตก พอให้ส่วนปลายอ่อน ๆ นำมาถูฟันเสร็จแล้วตัดออก หากจะใช้ครั้งต่อไปก็ทุบใหม่ ใช้แล้วจะช่วยทำให้ฟันที่โยกคลอนแข็งแรงขึ้น (เปลือก)[5]
- หากปากเปื่อยหรือริมฝีปากเป็นแผล มีอาการเจ็บแผลเมื่อกินรสจัด หรือกินอาหารไม่ค่อยได้ มีอาการเจ็บคอ ให้กินยอดสะเดาลวก 3 วัน จะหายเป็นปกติ (ยอด)[5]
- ช่วยรักษาโรครำมะนาด เหงือกอักเสบ ทำให้เคี้ยวอาหารได้ไม่สะดวกหรือไม่ละเอียด อาการจะหายเร็วขึ้นหากใช้เปลือกสะเดานำมาต้มกับเกลือประมาณ 10-15 นาที แล้วใช้อมวันละ 2-3 ครั้ง (เปลือก)[5]
- ช่วยแก้อาการเสียวฟัน โดยใช้ไม้สีฟันสะเดา จะพบว่าอาการเสียวฟันจะลดลงและหายไปในที่สุด ผู้ที่มีอาการเสียวฟันมากก็ใช้ได้ (กิ่งอ่อน)[5]
- ช่วยแก้โรคในลำคอ (ใบ)[5]
- ช่วยแก้อาการเจ็บคอ โดยใช้กิ่งสะเดาเคี้ยว ๆ อม ๆ แล้วค่อย ๆ กลืน อาการเจ็บคอจะทุเลาลงและหายในที่สุด (กิ่ง)[5]
- ช่วยแก้ลม (ราก, แก่น)[1],[5]
- ช่วยแก้เสมหะที่จุกคอและแน่นอยู่ในอก (ราก)[1],[2],[5]
- ช่วยขับเสมหะ (แก่น)[2] แก้กองเสมหะ (เปลือกต้น)[5] หรือหากคอมีเสมหะให้ใช้รากสะเดา 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม แล้วต้มประมาณ 10-15 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา จะช่วยทำให้เสมหะที่ติดคอถูกขับออกมา น้ำลายจะหายเหนียว (ราก)[5]
- ช่วยแก้ริดสีดวงในลำคอ มีอาการคันเหมือนมีตัวไต่อยู่ในลำคอ (ดอก)[2],[5]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง (น้ำตาลที่ได้จากการหมักน้ำจากลำต้น)[4]
- ช่วยแก้อาการท้องเดิน (เปลือกต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือกต้น)[5]
- ช่วยแก้อาการท้องผูก โดยใช้ใบสะเดาตากแดดจนแห้ง นำมาบดเป็นผงละลายกับน้ำร้อน ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ จะช่วยให้ถ่ายสบายขึ้น หรือจะกินสะเดาน้ำปลาหวานติดต่อกันประมาณ 1 อาทิตย์ จะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดียิ่งขึ้น (ใบ)[5]
- ช่วยแก้บิด อาการบิดเป็นมูกเลือด โดยใช้เปลือกสะเดา 1 ชิ้น ขนาดเท่าฝ่ามือ ต้มกับน้ำ 2 แก้วให้เดือดประมาณ 10 นาที ใช้กินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง หรือจะใช้ยอดสะเดา 7 ยอดโขลกกับกระเทียม 3 กลีบ ใส่น้ำตาลอ้อยพอให้มีรสหวาน คลุกเคล้าจนเข้ากัน กินครั้งเดียวให้หมด โดยกินทุก 2 ชั่วโมง หากอาการทุเลาลงแล้วให้กินทุก 4 ชั่วโมง หรืออีกสูตรให้ใช้ใบสะเดาแก่ 1 กำมือ นำมาตำคั้นกับน้ำต้มสุก 1 แก้วแล้วกินให้หมด อาการถ่ายจะหยุด (ผล, เปลือกต้น, ใบ)[2],[5]
- ช่วยรักษาริดสีดวงในลำไส้ มีอาการปวดท้อง ปวดเจ็บในลำไส้ ถ่ายออกมาเป็นเลือด ให้ใช้รากสะเดานำมาฝนใส่น้ำมะพร้าว ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา (ราก)[5]
- ช่วยขับลม โดยใช้ยอดอ่อนนำมาต้มหรือเผาให้กรอบ จิ้มน้ำพริกกินกับข้าว ช่วยขับลมได้ดี (ยอด, ดอก)[2],[5]
- รากสะเดานำไปเข้ายารักษาโรคกระเพาะร่วมกับรากมะเฟือง รากหญ้าปันยอด และรากมะละกอตัวผู้ (ราก)[4]
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบอ่อน, ดอก, ไม้สะเดาที่ใช้สีฟัน)[1],[5]
- ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ไม้สะเดาที่ใช้สีฟัน)[5]
- ช่วยทำให้อุจจาระละเอียด (ใบ)[5]
- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ แก้พยาธิทั้งปวง และเป็นยาระบาย (ผล, ผลอ่อน, ลำต้น, เปลือกต้น, ราก, ใบ)[1],[2],[4],[5]
- ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ ปัสสาวะผิดปกติ (ผลอ่อน)[1],[2],[5]
- ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (ผลอ่อน)[1],[2],[5]
- ช่วยบำรุงน้ำดี ขับน้ำดีให้ตกสู่ลำไส้มากขึ้น โดยน้ำดีจะช่วยในการย่อยไขมัน ทำให้อาหารพวกไขมันถูกย่อยมากขึ้น (ใบ, กระพี้)[5]
- ช่วยแก้น้ำดีพิการ (กระพี้)[1],[5]
- ช่วยแก้ถุงน้ำดีอักเสบ (กระพี้)[2]
- ช่วยรักษาแผลพุพองมีน้ำเหลืองไหล โดยใช้เปลือกสะเดา 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม เคี่ยวพอน้ำงวดจนมีสีเปลือกสะเดาออกน้ำตาลอ่อน แล้วใช้สำลีชุบเช็ดทาบ่อย ๆ จะช่วยทำให้แผลแห้งไม่มีน้ำเหลืองไหล และหายภายในเวลา 4-5 วัน (เปลือก)[5]
- หากรองเท้ากัดจนเป็นแผล ให้ใช้ใบสะเดา 3 ใบ ผสมกับผงขมิ้น เติมน้ำแล้วบดผสมจนเข้ากันกลายเป็นครีม ใช้ทาบนแผลรองเท้ากัดจะช่วยลดอาการเจ็บลงได้มาก ทั้งยังช่วยทำให้แผลแห้งเร็วขึ้นอีกด้วย (ใบ)[8]
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างแผลและเป็นยาฆ่าเชื้อโรคได้ (เปลือกต้น)[5]
- เปลือกต้น ใบ และเมล็ด ใช้ในรายที่ถูกงูกัดและถูกแมงป่องต่อย (เปลือกต้น, ใบ, เมล็ด)[4]
- ใบใช้เป็นยาพอกรักษาฝี แก้พิษฝี โดยใช้ใบสะเดานำมาตำแล้วพอกใช้ผ้าปิดทับ เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ใบ)[1],[5]
- ใช้เป็นยาฝาดสมาน (เปลือกราก[2], เปลือกต้น[4], ใบ[4])
- ช่วยแก้โรคหิด โรคเรื้อน (เปลือก)[4] รักษาโรคเรื้อนกวาง สะเก็ดเงิน หิด (น้ำมันเมล็ดสะเดา)[8]
- ช่วยแก้หัด โดยใช้ก้านสะเดา 33 ก้านต้มกับน้ำ 10 ลิตร แล้วต้มจนเหลือน้ำ 5 ลิตร ยกลงทิ้งไว้รอให้เย็น ผสมกับน้ำเย็น 1 ขัน ใช้อาบให้ทั่วร่างกายวันละ 1-2 ครั้งจนกว่าจะหาย และต้องระวังอย่าอาบช่วงที่เม็ดหัดผุดขึ้นมาใหม่ ๆ แต่ให้อาบในช่วงที่เม็ดหัดออกเต็มที่แล้ว (ก้าน)[5]
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (ใบ, ราก, เปลือกต้น, เปลือกรากแก้ว, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[4],[5] แก้น้ำเหลืองเสีย (ใบ)[5]
- ช่วยบรรเทาอาการผิวแห้ง (น้ำมันสะเดา)[8]
- ช่วยแก้ลมพิษ ด้วยการใช้ใบสะเดาทั้งก้านประมาณ 1 กิโลกรัม ใส่น้ำให้มากพอสำหรับอาบ ต้มจนเป็นสีเหลือง แล้วทิ้งไว้จนอุ่นแล้วนำมาใช้อาบ (ใบรวมก้าน)[5]
- หากมีผดผื่นคัน ให้ใช้ใบสะเดาต้มกับน้ำพอน้ำเดือด ตั้งไฟไว้พออุ่นแล้วนำมาใช้อาบทันที ผดผื่นคันจะหายไปภายใน 2-3 วัน (ใบ)[5]
- ช่วยแก้อาการคันในร่มผ้า โดยใช้ใบสะเดาแก่นำมาต้มให้งวดแล้วทิ้งไว้จนเย็น ใช้ชำระล้างส่วนที่มีอาการคัน 4-5 ครั้งติดต่อกัน (ใบแก่)[5]
- ใช้เป็นยาระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ (ลำต้น, ราก, เปลือก)[4]
- ช่วยแก้ประดงเส้น ด้วยการใช้สะเดาทั้ง 5 ใส่น้ำพอท่วมยา แล้วต้มให้เดือดนาน 10-15 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1-2 แก้ว วันละ 3 เวลา (ทั้งห้า)[5]
- ช่วยแก้ประดงเข้าข้อ ด้วยการใช้เปลือกสะเดาฝนกับน้ำใช้ทาภายนอก และให้ต้มใบสะเดาประมาณ 1 กำมือกินทุกวัน เช้าและเย็น (เปลือก, ใบ)[5]
- ใช้เป็นยากระตุ้น (ยางจากเปลือกต้น, ลำต้น, ราก, เปลือกต้น)[4]
- ใบและเมล็ดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อและใช้เป็นยาฆ่าแมลง (ใบ, เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด, ผล)[1],[2]
- หากเด็กเป็นเหา ให้ใช้ใบแก่นำมาโขลกผสมกับน้ำแล้วนำไปทาให้ทั่วหัวเด็ก แล้วใช้ผ้าหรือถุงพลาสติกคลุมหัวไว้ด้วยและทิ้งไว้สักพัก จะทำให้ไข่เหาฝ่อ และฆ่าเหาให้ตายได้ (ใบแก่)[5]
ประโยชน์ของสะเดา
- ยอดอ่อนและดอกอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือใช้ลวกกินกับน้ำพริกหรือลาบ (กะเหรี่ยงแดง), ยอดอ่อนใช้กินกับลาบ (ไทลื้อ) ส่วนช่อดอกใช้ลวกกินกับน้ำพริก (คนเมือง), หรือจะใช้ดอกรับประทานร่วมกับแกงหน่อไม้หรือลาบก็ได้ (คนเมือง), ส่วนแกนในยอดอ่อนใช้ประกอบอาหารได้ เช่น การนำมาทำเป็นแกง (ลั้วะ)[2],[4]
- น้ําปลาหวานสะเดา อีกหนึ่งเมนูอาหารที่ให้พลังงานค่อนข้างสูง ให้โปรตีนพอใช้ แต่ให้ไขมันต่ำ มีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งแร่ธาตุและวิตามิน ช่วยแก้ไข้หัวลม บรรเทาความร้อนในร่างกาย ช่วยปรับธาตุให้สมดุล ช่วยทำให้เจริญอาหาร ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโรคมะเร็งได้อีกด้วย[8]
- กล้วยตากของจังหวัดตากมีชื่อเสียงว่ารสชาติดี ไส้กล้วยไม่นิ่มแข็ง หนึบนอกนุ่มใน เพราะใช้ใบสะเดาในการบ่มกล้วย โดยวางกล้วยแก่จัดซ้อนกันไม่เกิน 3 ชิ้น แล้วคลุมด้วยใบสะเดาและห่อด้วยพลาสติกทิ้งไว้ 1 วัน แล้วนำมาผึ่งข้างนอกอีก 3-4 วัน จะได้กล้วยที่สุกงอมนำไปทำกล้วยตากได้ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันแมลงวันทองมาเจาะผลกล้วยได้ด้วย[5]
- สะเดาเป็นผักที่มีแคลเซียมสูงสุดเป็นอันดับ 3 มีธาตุเหล็กสูงสุดเป็นอันดับ 4 มีเส้นใยอาหารสูงเป็นอันดับ 3 และมีเบตาแคโรทีนสูงเป็นอันดับ 5 ในบรรดาผักทั้งหมด[8]
- หากสุนัขเป็นขี้เรื้อน ให้ใช้ใบสะเดานำมาตำให้ละเอียด แล้วใช้น้ำและกากมาชโลมให้ทั่วตัวสุนัข จะช่วยรักษาโรคขี้เรื้อนได้[5]
- ไม้สะเดา มีลักษณะคล้ายกับเนื้อไม้มะฮอกกานี ยิ่งมีอายุมากเนื้อไม้ยิ่งแกร่งเหมือนไม้แดง ไม้ประดู่ เหมาะสำหรับนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งก่อสร้าง ในบ้านเรานิยมใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เช่น ทำเสาบ้าน ทำฝาบ้าน ไม้กระดานปูพื้น เครื่องบนที่รองรับน้ำหนักจากคาน ตง เป็นต้น แถมมอดยังไม่กินอีกด้วย หรือนำไปทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เนื่องจากเนื้อไม้สะเดามีความทนทาน ขัดเงาได้ดี มีสีแดงสวย และยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง ปลูกเป็นไม้ฟืนได้ดี เพราะเนื้อไม้หนักพอสมควร ให้ความร้อนจำเพาะสูง[1],[5]
- ต้นสะเดาเป็นต้นไม้ที่ปลูกได้ง่าย เติบโตเร็ว ทนทานต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้ดี และยังมีอายุยืนยาว อาจอยู่ได้นานถึง 200 ปี ใช้ปลูกเป็นแนวรั้วหรือปลูกเพื่อให้ร่มใบได้[5]
- สารสกัดสะเดาที่มีในเมล็ดและใบ ใช้เป็นสารป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยสารสกัดจากสะเดาสามารถใช้กับแมลงได้หลายชนิด มีฤทธิ์ฆ่าแมลง ขับไล่แมลง ช่วยต่อต้านการดูดกิน ยับยั้งการเจริญเติบโต ทำให้หนอนหรือตัวอ่อนไม่ลอกคราบ และกำจัดแมลงได้หลายชนิด เช่น ด้วงเต๋า ตั๊กแตน เพลี้ยกระโดดสีเขียว เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจั๊กจั่นสีเขียว มอดข้าวโพดผีเสื้อกิน มอดแป้ง แมลงหวี่ขาวยาสูบ แมลงวันผลไม้ ใบส้ม หนอนกอ หนอนกอสีครีม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนใยกะหล่ำ หนอนใยผัก ฯลฯ และยังใช้กำจัดไส้เดือนฝอยในดินได้อีกด้วย[1],[5],[6] เนื่องจากสะเดามีสารสกัดที่ชื่อ “อาซาดิเรซติน” (Azadirachtin) ที่ใช้เป็นยาฆ่าแมลง โดยสูตรยาฆ่าแมลงที่นิยมใช้คือ ใช้ใบสะเดาสด 4 กิโลกรัม, ข่าแก่ 4 กิโลกรัม, และตะไคร้หอม 4 กิโลกรัม แล้วนำแต่ละอย่างมาตำให้ละเอียด หมักกับน้ำ 20 ลิตรทิ้งไว้ 1 คืน ใช้น้ำยาที่กรองได้มา 1 ลิตร ผสมกับน้ำ 200 ลิตร ใช้เป็นยาฉีดฆ่าแมลงในสวนผักผลไม้โดยไม่มีสารพิษตกค้าง ไม่เป็นอันตราย และไม่ทำลายศัตรูธรรมชาติ โดยน้ำยาที่ได้นี้สามารถเก็บไว้ได้นานหลายวัน แต่ต้องเก็บให้พ้นแสง หรือเก็บในขวดสีทึบหรือชา แดดส่องไม่ถึง และสูตรนี้หากใช้เมล็ดแทนใบได้จะสามารถกำจัดแมลงได้ทุกชนิด ยกเว้นด้วงและแมลงปีกแข็ง[2],[5] หรือจะใช้ใบนำมาแช่น้ำจนเน่าแล้วกรองน้ำที่ได้ไปใช้พ่นฆ่าแมลง ผสมกับต้นหัน หรือจะนำไปหมักใช้ทำน้ำหมักพ่นไล่แมลงก็ได้เช่นกัน[4]
- สำหรับสูตรไล่หอยและเพลี้ยไฟ ให้ใช้ยอดสะเดา ยูคาลิปตัส ข่าแก่ และบอระเพ็ดอย่างละ 2 กิโลกรัม จุลินทรีย์และกากน้ำตาลอย่างละ 1 แก้ว โดยนำยอดสะเดา ยูคาลิปตัส ข่าแก่ และบอระเพ็ด นำแต่ละอย่างมาแยกใส่ปี๊บแล้วใส่น้ำให้เต็ม ต้มจนเหลืออย่างละครึ่งปี๊บ ทิ้งไว้จนเย็น แล้วนำมาเทรวมกันในถังใหญ่ หลังจากนั้นให้ใส่จุลินทรีย์และกากน้ำตาลตามลงไป ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วัน เมื่อนำมาใช้ให้ใช้เพียงครึ่งแก้วผสมกับน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นในแปลงพืชผักหรือในนาข้าวจะช่วยป้องกันใบข้าวไหม้ได้[5]
- เศษที่เหลือของเมล็ดหลังจากการคั้นเอาน้ำมันและเนื้อหุ้มเมล็ดที่เน่าเปื่อยจะมีก๊าซมีเทนสูง สามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยได้เป็นอย่างดี เพราะมีธาตุอาหารสูง และในส่วนของใบและกิ่งยังช่วยปรับปรุงดินได้ด้วย ซึ่งในประเทศอินเดียได้มีการนำต้นสะเดามาปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง เพื่อช่วยในการปรับปรุงดินและได้ผลเป็นอย่างดี[1]
- ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี โดยเปลือกของต้นสะเดาจะมีสารจำพวกน้ำฝาดอยู่ประมาณ 12-14% จากการศึกษาพบว่าน้ำฝาดที่ได้จากต้นสะเดาสามารถใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าน้ำฝาดที่มาจากพืชชนิดอื่น[1]
- ประโยชน์สะเดา ใช้สกัดทำสีย้อมผ้า โดยเปลือกต้นสะเดาให้สีแดง ส่วนยางให้สีเหลือง[10]
- เมล็ดสะเดามีน้ำมันอยู่ประมาณ 40% สามารถนำมาใช้ทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ได้ นอกจากนี้ยังใช้ทำสบู่ เครื่องสำอาง และใช้ผสมยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น ยารักษาโรคผิวหนัง ยารักษาเส้นผม ยาสีฟัน ยารักษาสิว เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยต้านเชื้อก่อโรคฟันผุและช่วยต้านเชื้อก่อสิว[1],[8]
- คนไทยสมัยก่อนถือว่าต้นสะเดาเป็นไม้มงคล หากปลูกไว้ในบริเวณบ้านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ส่วนในบางพื้นที่เชื่อกันว่ากิ่งและใบของต้นสะเดาจะช่วยป้องกันภูตผีปีศาจได้ และด้วยความเป็นมงคลนี่เอง ต้นสะเดาจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานี ส่วนสะเดาช้างได้รับการคัดเลือกให้เป็นพันธุ์ประจำจังหวัดสงขลา[5],[8]